วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

คีตกวีไทย


      
      ครูเฉลิม บัวทั่ง เป็นบุตรของนายปั้น และนางถนอม บัวทั่ง เกิดเมื่อวันจันทร์ เดือน 9 แรม 9 ค่ำปีจอ วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2453

      ครูเฉลิม บัวทั่ง ได้ชื่อว่าเป็นคนระนาดเอกฝีมือดีเยี่ยมคนหนึ่ง ครูได้รับเสนอชื่อให้ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะ นักดนตรีไทยตัวอย่าง ซึ่งมีนักดนตรีไทยที่ได้รับ พระราชทานโล่ครั้งนี้ เพียง 4 คน คือ อาจารย์มนตรี ตราโมท ครูเฉลิมบัวทั่ง คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ และครูบุญยงค์เกตุคง

      ผลงานการแต่งเพลงของครูมีมากมาย เช่น โหมโรงสรรเสริญพระจอมเกล้า โหมโรงพิมานมาศ โหมโรงมหาปิยะ โหมโรงรามาธิบดี ลาวลำปางใหญ่เถา ลาวลำปางเล็กเถา ลาวกระแซะเถา ลาวครวญเถา ดอกไม้เหนือเถา เคียงมอญรำดาบเถา เขมรใหญ่เถา ลาวสอดแหวนเถา ประพาสเภตราเถา


      นอกจากนั้น ในปี พ.ศ. 2525 ครูได้แต่งเพลงเข้าประกวดรางวัลพินทองของธนาคารกสิกรไทย ชื่อเพลง ปิ่นนคเรศเถา ได้รับบรางวัลชนะเลิศอีกด้วย

ใน ปี พ.ศ. 2529 ครูได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย)

ครูเสียชีวิตด้วยโรงมะเร็งในปอด เมื่อ 11 มิถุนายน 2530 รวมอายุได้ 77 ปี


     

       ครูบุญยงค์ เป็นบุตรชายคนโตของนายเที่ยงและนางเขียน เกตุคง เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน 4ปีวอก พ.ศ.2463 ที่ตำบลวัดสิงห์เป็นหลานปู่หลานย่าของนายใจและนางเพียร ชาวสวนตำบลดาวคนอง เป็นหลานตาหลานยายของนายเปี่ยมและนางภู่ ศรีประเสริฐ ตากับยายและแม่เป็นคนอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม มีน้องชาย 2 คนชื่อบุญยังและทองอยู่ มีน้องสาว 1 คนชื่อเบญจางค์ น้องชายที่ชื่อบุญยังเป็นนักดนตรีฝีมือดี ครูมีภรรยาซึ่งเป็นน้องสาวครูชื้น ดุริยประณีตแต่ไม่มีบุตรด้วยกัน
      ครูได้ศึกษาดนตรีกับนักดนตรีที่มีชื่อเสียงหลายท่านเช่น ครูหรั่ง พุ่มทองสุข ครูประสิทธิ์ เกตุคง ครูเพชร จรรย์นาค ครูสอน วงฆ้อง ครูเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล ครูพุ่ม บาปุยะวาส เป็นต้น จนมีความสามารถในการบรรเลงปี่พาทย์ได้ทุกประเภท ทั้งประกอบการแสดงโขน ละคร ลิเก จนถึงการประชันวงปี่พาทย์ นอกจากนั้นครูได้รับยกย่องสรรเสริญว่าเป็น “ระนาดเทวดา” เพราะมีฝีมือบรรเลงระนาดเอกได้ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในยุคสมัยเดียวกัน
      ประวัติการทำงาน ครูได้เข้ารับราชการในกรมประชาสัมพันธ์ประมาณ 5 – 6 ปี จากนั้นเข้าเป็นนักดนตรีประจำอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมอยู่ประมาณ 5 ปี จากนั้นเข้าเป็นนักดนตรีประจำวงดนตรีไทยของสำนักงานกรุงเทพมหานคร จนเกษียณอายุเมื่อ ปีพ.ศ.2525
       ผลงานทางด้านการแต่งเพลงของครูมีมากหลายเพลงอาทิ โหมโรงสามสถาบัน โหมโรงจุฬามณี โหมโรงสามจีน เพลงเงี้ยวรำลึกเถา เพลงเริงพลเถา เพลงศรีธรรมราชเถา เพลงชเวดากองเถา เพลงพิรุณสร่างฟ้าเถา เพลงเพชรน้อยเถา เป็นต้น และยังแต่งทางเดี่ยวสำหรับเพลงต่างๆและเครื่องดนตรีต่างๆอีกเป็นอันมาก ผลงานการแต่งเพลงของครูในระยะหลัง มีชื่อเสียงแพร่หลายไปถึงต่างประเทศคือไปร่วมงานกับนายบรู๊ซ แกสตัน นักดนตรีชาวเยอรมันจัดทำเพลงชุด “เจ้าพระยาคอนแชร์โต้”บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีไทยผสมเครื่องดนตรีฝรั่งเป็น ที่นิยมชมชอบกันโดยทั่วไป นอกจากนั้นท่านยังได้รับการยอมรับนับถือจาก เซอร์ ไซมอน แรทเทิล (Sir Simon Rattle [1955]) วาทยากรชาวอังกฤษ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งวาทยากรหลักของวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิคออร์เคสตรา) ในฐานะครูผู้ใหญ่อีกด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ครูบุญยงค์ เกตุคงเป็นอัจฉริยบุคคลทางดนตรีของไทยอีกผู้หนึ่งซึ่งยากจะหาผู้ใดเสมอ เหมือน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2532 ครูได้เข้ารับพระราชทานโล่และเข็มเชิดชูเกียรติในฐานะศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย)ประจำปี 2531 นับเป็นเกียรติประวัติอันสูงส่งในชีวิตที่ครูได้รับ
ครูบุญยงค์ เกตุคง ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2539 สิริรวมอายุได้ 76 ปี



     
      พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์)
พระยาประสานดุริยศัพท์ เป็นบุตรคนโตของขุนกนกเลขา(ทองดี) กับนางนิ่ม เกิดเมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๔๐๓ ตรงกับวันอังคาร แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก ที่บ้านเลขที่ ๘๑ ตรอกไข่ ถนนบำรุงเมือง ตำบลหลังวัดเทพธิดา กรุงเทพฯ

      การศึกษาวิชาดนตรีไทย ได้เรียนปี่ชวากับครูชื่อ “หนู ดำ” ส่วนวิชาดนตรีปี่พาทย์อื่นๆ รวมทั้งปี่ใน ปี่นอก นั้นได้ศึกษาอย่างจริงจังกับครูช้อย สุนทรวาทิน (บิดาของพระยาเสนาะดุริยางค์) จนบรรลุความแตกฉานเป็นเอตทัคคะทางดุริยางคศิลป์อย่างยอดเยี่ยมต่อมา

      หน้าที่การงานของท่านเริ่มด้วยการเข้ารับราชการครั้งแรกในกระทรวงนครบาล เป็นหมื่นทรงนรินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่อยู่ได้ไม่นานก็ลาออก ครั้นต่อมาภายหลัง เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๕ มีพระประสงค์ให้นักดนตรีของวัดน้อยทองอยู่ซึ่งมีครูช้อย สุนทรวาทินเป็น ครู มีนายแปลก (พระยาประสานดุริยศัพท์) กับนายแช่ม (พระยาเสนาะดุริยางค์) เป็นศิษย์เอก เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กเรือนนอกท่านจึงกลับเข้ารับราชการอีก ครั้งหนึ่ง ล่วงมาจนถึงพ.ศ.๒๔๕๒ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงพระยศเป็นพระยุพราชได้ ทูลขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้นายแปลกเป็นที่ “ขุนประสานดุริยศัพท์” นับจากนั้นก็ได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์มาเป็นลำดับ จนได้เป็น “พระยาประสานดุริยศัพท์” เจ้ากรมปี่พาทย์หลวง ในรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๕๘ เรื่อยมาจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิต

      งานคีตนิพนธ์ของท่านอาทิ เช่น เชิดจีน ๓ ชั้น พม่าห้าท่อน เขมรราชบุรี ลาวคำหอม ลาวดำเนินทราย เขมรทรงพระดำเนิน (เขมรกล่อมพระบรรทม) เขมรปากท่อ เขมรใหญ่ ดอกไม้ไทร ถอนสมอ แขกเชิญเจ้า เป็นต้น

      ในด้านชีวิตครอบครัวท่านสมรสกับนางสาวพยอม ชาวจังหวัดราชบุรี มีบุตรธิดาทั้งสิ้น ๑๑ คน ท่านล้มป่วยด้วยโรคชราและถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๖๗ สิริอายุได้ ๖๕ ปี



ประเภทของวงดนตรีไทย

ประเภทของวงดนตรีไทย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
     1.วงเครื่องสาย มีลักษณะเด่นชัด คือใช้เครื่องดนตรีมีสาย อันมีเครื่องดีด และเครื่องสี เป็นประธานของวง พระเอกในวงได้แก่ ซอด้วง แบ่งออกเป็นเคร่องสายวงเล็ก เครื่องสายเครื่องคู่ เครื่องสายผสม เครื่องใหญ่หรือวงใหญ่
ประกอบด้วยเครื่อง ดนตรีประเภทเครื่องสาย อันได้แก่เครื่องสี (ซอด้วงและซออู้) และเครื่องดีด (จะเข้) เป็นหลัก มีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องเป่า (ขลุ่ย) เป็นส่วนประกอบ ใช้โทนรำมะนาบรรเลงจังหวะหน้าทับ และใช้ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง ร่วมบรรเลงประกอบจังหวะ วงเครื่องสายเป็นวงดนตรีประเภทที่ใช้บรรเลงขับกล่อมเพื่อความบันเทิงเริง รมย์ เหมาะสำหรับการบรรเลงในอาคาร นิยมใช้บรรเลงในงานมงคล เช่น พิธีมงคลสมรสและงานเลี้ยงสังสรรค์ เป็นต้น และมิได้ใช้บรรเลงสำหรับประกอบการแสดงนาฏศิลป์
วงเครื่องสาย

      เครื่องดนตรีในวงเครื่องสายนั้นมี วิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยใดไม่ทราบแน่ แต่ในสมัยอยุธยาตอนต้น ได้มีการกล่าวถึงเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายแล้วหลายชิ้น เช่น ระบุถึงไว้ในกฎมนเทียรบาลว่า “ร้อง (เพลง) เรือ เป่าขลุ่ย เป่าปี่ ตีทับขับรำโห่ร้องนี่นัน” และกล่าวถึงว่า “ร้องเพลงเรือ เป่าปี่ เป่าขลุ่ย สีซอ ดีดจะเข้ กระจับปี่ ตีโทนทับ” อย่างไรก็ดี ในสมัยนั้น การบรรเลงเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายเหล่านี้คงเป็นลักษณะต่างคนต่างเล่น คงมิได้หมายถึงการผสมวงที่ปรับปรุงตามแบบฉบับ จึงยังไม่พบเป็นหลักฐานว่า วงเครื่องสายสมัยอยุธยาผสมวงกันอย่างไร

      สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประทานอธิบายถึงกำเนิดวงเครื่องสายไว้ว่า “...ผู้ชาย บางพวกที่หัดเล่นเครื่องสายอย่างจีน จึงคิดกันเอาซอด้วง ซออู้ จะเข้ กับปี่อ้อ เข้าเล่นผสมกับเครื่องกลองแขก เครื่องผสมแบบนี้เรียกกันว่า กลองแขกเครื่องใหญ่...” ซึ่งภายหลังเรียกการประสมวง แบบนี้ว่า เครื่องสายปี่ชวา แล้วทรงประมาณถึงช่วงเวลาของการกำเนิดวงเครื่องสายว่า “...เห็นจะเกิดขึ้นในตอนปลายรัชกาลที่ ๔ ด้วยเมื่อตอนต้นรัชกาลที่ ๕ ยังถือกันว่าเป็นของเกิดขึ้นใหม่…”

      ทรงประทานอธิบายต่อไปว่า “...ครั้นต่อมาเอา กลองแขกกับปี่อ้อออกเสีย ใช้ทับกับรำมะนา และขลุ่ยแทน เรียกว่า มโหรี เครื่องสาย บางวงก็เติมระนาด และฆ้องเข้าด้วย จึงเกิดมีมโหรีเครื่องสายผู้ชายเล่น แทนมโหรีผู้หญิงอย่างเดิมสืบมาจนทุกวันนี้ ที่ผู้หญิงหัดเล่นก็มี แต่น้อยกว่าผู้ชายเล่น แต่การเล่นมโหรีเครื่องสายในชั้นหลังมา ดูไม่มีกำหนดจำนวนเครื่องเล่น เช่น ซอด้วง และซออู้ เป็นต้น แล้วแต่จะมีคนสมัครจะเข้าเล่นเท่าใด ก็เข้าเล่นได้…”

      ภายหลัง เราไม่เรียกวงแบบนี้ว่า มโหรี เครื่องสาย แต่เรียกกันว่า วง เครื่องสาย และตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๖ มา เมื่อมีผู้นำขิมบ้าง ไวโอลินบ้าง ออร์แกน และเครื่องอื่นๆ บ้าง เข้าเล่นผสมวง จึงเรียกกันว่าเครื่องสายผสมขิม เครื่องสายผสมไวโอลิน เครื่องสายผสมออร์แกน และเมื่อผสมเครื่องดนตรีหลายอย่าง เรียกกันอย่างกว้างๆว่า
วง เครื่องสายผสม

      เสียงของวงเครื่องสายนั้นมีความไพเราะ เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเมื่อพิจารณาจากธรรมชาติของเครื่องดนตรีที่สังกัดในวงดนตรีชนิดนี้ที่ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีที่เป็นเครื่องสายตระกูลดีดและสี กับมีเครื่องเป่าตระกูลของขลุ่ยเข้าร่วมสมทบ ซึ่งส่วนมากมีศักยภาพในการผลิตเสียงที่ยาวได้อย่างต่อต่อเนื่องเกือบทั้ง สิ้น จึงทำให้วงเครื่องสายมีลีลาของการบรรเลงบทเพลงประเภท “เพลงกรอ” ได้อย่างดีเยี่ยม อย่างไรก็ตาม วงเครื่องสายก็สามารถบรรเลงเพลงประเภทอื่น เช่น เพลงทางพื้น เพลงลูกล้อลูกข้อได้เช่นกัน

      ส่วนลีลาด้านการดำเนินทำนองนั้น แนวการดำเนินทำนองของ ซอ จัดได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น การเคลื่อนที่ของทำนองจากต่ำไปสู่สูงและลงมาต่ำนั้น มีลีลาการสร้างทำนองที่ต่างไปจากเครื่องดนตรีอื่นๆ เช่น ระนาดเอก ฆ้องวง ทั้งนี้เนื่องจากซอเป็นเครื่องดนตรีที่มีความกว้างของช่วงเสียงหรือพิสัย (Range) ที่แคบ การเคลื่อนที่ของทำนองจึงหมุนเวียนอยู่ในกรอบของระดับเสียงที่จำกัด อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนที่ของทำนองในวงเครื่องสายลักษณะนี้ กลับกลายเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของวงเครื่องสายได้อย่างดียิ่ง

      เสียงของวงเครื่องสายนั้น จะใช้ ทาง เพียงออบน หรือ ทางนอกต่ำ โดยใช้ “ขลุ่ยเพียงออ” หรือ “ปี่นอกต่ำ” เป็นหลักของเสียง เสียงเอกของทางเพียงออบนหรือทางนอกต่ำนี้อยู่สูงกว่าทางกลางขึ้นมาอีกหนึ่ง เสียง (ทางกลางคือทางที่ใช้บรรเลงประกอบกับการแสดงโขนและหนังใหญ่ ซึ่งเล่นกลางแจ้ง มีเสียงสูงและใช้ปี่กลางเป็นหลักของเสียง)

      แบบแผนของวงเครื่องสายในปัจจุบันนี้ นั่น สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ วงเครื่องสายไทย วงเครื่องสายผสม และวงเครื่องสายปี่ชวา

๑. วงเครื่องสายไทย

      วงเครื่องสายไทย เป็นวงดนตรีที่เหมาะสำหรับการบรรเลงในอาคาร ในลักษณะของการขับกล่อมที่เป็นพิธีมงคล เช่น พิธีมงคลสมรสและงานเลี้ยงสังสรรค์ เป็นต้น วงเครื่องสายไทยนี้มักจะเรียกกันสั้นๆ ว่า “วงเครื่องสาย” มีอยู่ ๒ ขนาด คือ วงเครื่องสายวงเล็กและวงเครื่องสายเครื่องคู่

๑.๑ วงเครื่องสายวงเล็ก ประกอบด้วย เครื่องดนตรีในตระกูลเครื่องสายและเป่าอย่างละหนึ่งเครื่อง ดังนี้
จะเข้               ๑ ตัว
ซอด้วง            ๑ คัน
ซออู้               ๑ คัน
ขลุ่ย เพียงออ   ๑ เลา
โทน-รำมะนา    ๑ คู่
ฉิ่ง                 ๑ คู่
ฉาบ               ๑ คู่
กรับ               ๑ คู่
โหม่ง             ๑ ใบ



      ๑.๒ วงเครื่องสายเครื่องคู่ วงเครื่องสายเครื่องคู่ประกอบด้วย เครื่องดนตรีที่อยู่ในวงเครื่องสายวงเล็กเป็นหลัก โดยเพิ่มจำนวนของเครื่องดนตรีประเภททำทำนองจากเครื่องมือละหนึ่งเครื่องเป็น สองเครื่องหรือเป็นคู่ ดังต่อไปนี้
จะเข้           ๒ ตัว
ซอด้วง        ๒ คัน
ซออู้           ๒ คัน
ขลุ่ยเพียงออ ๑ เลา
ขลุ่ยหลิบ      ๑ เลา
ฉิ่ง              ๑ คู่
ฉาบ            ๑ คู่
กรับ            ๑ คู่
โหม่ง           ๑ ใบ
โทน-รำมะนา ๑ คู่


๒. วงเครื่องสายผสม

      เป็นวงดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีอย่างที่สังกัดในวงเครื่องสายไทย เพียงแต่เพิ่มเอาเครื่องดนตรีที่อยู่นอกเหนือจากวงเครื่องสายไทย หรืออาจจะเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมือง หรือเครื่องดนตรีของต่างชาติก็ได้ มาบรรเลงร่วมด้วย เช่น ไวโอลิน ออร์แกน ขิม หีบเพลงชัก เปียโน ระนาด แคน (หรือแม้แต่ซอสามสายอันเป็น เครื่องสีก็ตาม) เป็นต้น ซึ่งเครื่องดนตรีที่นำมาผสมนั้นต้องคำนึงถึงคุณลักษณะของเสียงด้วยว่ามีความ กลมกลืนมากน้อยเพียงใด

      การเรียกชื่อวงจะเรียกตามตามเครื่องดนตรีที่นำมาผสม เช่น ถ้านำขิมมาบรรเลงร่วมก็จะเรียกว่า วงเครื่องสายผสมขิม ถ้าหากนำออร์แกนมาบรรเลงร่วม ก็เรียกว่า วงเครื่องสายผสมออร์แกน ฯลฯ สำหรับโอกาสในการบรรเลงนั้น มีลักษณะเช่นเดียวกับวงเครื่องสายไทยทุกประการ



      ในบางครั้งวง เครื่องสายประเภทนี้จะนำเอาจะเข้ซึ่งมีเสียงดังออกเสียด้วย เนื่องจากเครื่องดนตรีที่นำมาบรรเลงร่วมนั้นมีเสียงเบากว่ามาก เช่น ในวงเครื่องสายผสมขิมหรือไวโอลินบางวง เป็นต้น

๓. วงเครื่องสายปี่ชวา

      ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายไทยเป็นหลัก และนำเอาปี่ชวามาบรรเลงแทนขลุ่ยเพียงออ คงไว้แต่เพียงขลุ่ยหลิบซึ่งมีเสียงสูง และเปลี่ยนมาใช้กลองแขกบรรเลงจังหวะหน้าทับแทน วงเครื่องสายปี่ชวามี ๒ ขนาด คือ วงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็กและวงเครื่องสายปี่ชวาวงใหญ่

๓.๑ วงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็ก ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรี ดังนี้

ปี่ชวา        ๑ เลา
ขลุ่ยหลิบ   ๑ เลา
ซอด้วง      ๑ คัน
ซออู้         ๑ คัน
จะเข้         ๑ ตัว
กลองแขก  ๑ คู่
ฉิ่ง            ๑ คู่
ฉาบ กรับ โหม่ง ตามความเหมาะสม


      ๓.๒ วงเครื่องสายปี่ชวาวงใหญ่ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายปี่ชวาวงเล็กเป็นหลัก โดยเพิ่มเครื่องดนตรีในตระกูลเครื่องสายให้เป็น 2 หรือคู่ ดังนี้
ปี่ชวา      ๑ เลา
ขลุ่ยหลิบ ๑ เลา
ซอด้วง    ๒ คัน
ซออู้       ๒ คัน
จะเข้       ๒ ตัว
กลองแขก ๑ คู่
ฉิ่ง          ๑ คู่
 ฉาบ กรับ โหม่ง ตามความเหมาะสม

    
       2.วงมโหรี ดนตรีที่ประกอบด้วยเครื่องดีดสีตีเป่า เข้ารวมกันหมด แต่รู้สึกว่าจะขนาดเล็กกว่าพวกเครื่องสายและปี่ พาทย์ แรกๆผู้ชายเล่น ต่อมาในสมัยอยุธยาใช้ผู้หญิงเล่น และเล่นเรื่อยมา พอขึ้นชื่อว่ามโหรี เรามักรู้ได้ทันทีว่าเป็นของผู้หญิงเล่น

      
       วงดนตรีไทยประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเครื่อง ดนตรีผสมทั้งดีด สี ตี เป่า เป็นวงดนตรีที่ใช้บรรเลงเพื่อขับกล่อม ไม่นิยมบรรเลงในการแสดงใด ๆ
วง มโหรีมี 5 แบบ คือ
      1.วงมโหรีเครื่องสี่ เป็น วงมโหรีที่รวมเอาการบรรเลงพิณและการขับไม้ ซึ่งมีมาแต่โบราณเข้าด้วยกัน เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยอยุธยา มีเครื่องดนตรี 4 ชิ้น คือ
        1.1 ทับ (ปัจจุบัน เรียกว่า โทน) เป็นเครื่องควบคุมจังหวะ
        1.2 ซอสามสาย
        1.3 กระจับปี่
        1.4 กรับพวง (ผู้ขับร้องเป็นผู้ตีกรับพวง)
      วงมโหรีเครื่อง สี่นี้เดิมผู้ชายเป็นผู้บรรเลง ต่อมาเมื่อนิยมฟังมโหรีกันแพร่หลาย ผู้มีบรรดาศักดิ์จึงนิยมให้ผู้หญิงฝึกหัดบรรเลงบ้างและได้รับความนิยมสืบต่อ มา

      2. วงมโหรีเครื่องหก คือ วงมโหรีเครื่องสี่ซึ่งเพิ่มเครื่องดนตรีอีก 2 อย่าง คือ รำมะนา สำหรับตีกำกับจังหวะคู่กับทับ และขลุ่ย (ปัจจุบันเรียกว่า ขลุ่ยเพียงออ) สำหรับเป่าดำเนินทำนอง และเปลี่ยนใช้ฉิ่งแทนกรับพวง นับเป็นการบรรเลงที่มีเครื่องดนตรีครบทั้งดีด สี ตี และเป่า
เกิดขึ้นใน ตอนปลายสมัยอยุธยา

      3. วงมโหรีเครื่องเดี่ยว หรือ มโหรีเครื่องเล็ก คือ วงมโหรีที่ได้เพิ่มเครื่องดนตรีและเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับตั้งแต่สมัยรัตน โกสินทร์ตอนต้น ครั้งแรกเพิ่มระนาดเอกและฆ้องวง (ภายหลังเรียกว่า ฆ้องกลางหรือฆ้องมโหรี) (ดู ฆ้องมโหรี ประกอบ) ต่อมาจึงได้เพิ่มซอด้วงและซออู้ ส่วนกระจับปี่นั้นเปลี่ยนเป็นใช้จะเข้แทน เนื่องจากเวลาบรรเลงจะเข้วางราบไปกับพื้น ซึ่งต่างกับกระจับปี่ที่ต้องตั้งดีด ทั้งนมที่ใช้รองรับสายและบังคับเสียงก็เรียงลำดับมีระยะเหมาะสมกว่ากระจับ ปี่ เวลาบรรเลงจึงทำให้ใช้นิ้วดีดได้สะดวกและแคล่วคล่องกว่า นอกจากนี้จะเข้ยังสามารถทำเสียงได้ดังและทำเสียงได้มากกว่ากระจับปี่
ปัจจุบัน วงมโหรีเครื่องเดี่ยวประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้
        1.ซอสามสาย 1 คัน ทำหน้าที่คลอเสียงผู้ขับร้อง และบรรเลงดำเนินทำนองร่วมในวง
        2. ซอด้วง 1 คัน ดำเนินทำนองโดยเก็บบ้าง หวานบ้าง
        3.ซออู้ 1 คัน ดำเนินทำนองเป็นเชิงหยอกล้อยั่วเย้าไปกับทำนองเพลง
        4.จะเข้ 1 ตัว ดำเนินทำนองโดยเก็บบ้าง รัวบ้าง และเว้นห่างบ้าง
        5.ขลุ่ยเพียงออ 1 เลา ดำเนินทำนองเก็บบ้าง โหยหวนบ้าง
        6.ระนาดเอก 1 ราง ดำเนินทำนองเก็บบ้าง กรอบ้าง ทำหน้าที่เป็นผู้นำวง
        7.ฆ้องวง (เรียกว่า ฆ้องกลางหรือฆ้องมโหรี) 1 วง ดำเนินทำนองเนื้อเพลงเป็นหลักของวง
        8.โทน 1 ลูก รำมะนา 1 ลูก ตีสอดสลับกัน ควบคุมจังหวะหน้าทับ
        9.ฉิ่ง 1 คู่ ควบคุมจังหวะย่อย แบ่งให้รู้จังหวะหนักเบา

      4. วงมโหรีเครื่องคู่ คือ วงมโหรีเครื่องเดี่ยวที่ได้เพิ่มระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กเข้าในวง ทั้งนี้เนื่องด้วยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วงปี่พาทย์ได้เพิ่มระนาดทุ้มและฆ้องวงเล็กรวมเรียกว่า วงปี่พาทย์เครื่องคู่ วงมโหรีจึงเพิ่มเครื่องดนตรีดังกล่าวบ้าง นอกจากนั้นยังเพิ่มซอด้วงและซออู้ขึ้นเป็นอย่างละ 2 คัน เพิ่มจะเข้เป็น 2 ตัวขลุ่ยนั้นเดิมมีแต่ขลุ่ย เพียงออ จึงเพิ่มขลุ่ยหลีบอีก 1 เลา ส่วนซอสามสายก็เพิ่มซอสามสายหลีบอีก 1 คัน และเพิ่มฉาบเล็กอีก1 คู่ด้วย
ปัจจุบัน วงมโหรีเครื่องคู่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีดังนี้
        ซอสามสาย 1 คัน หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
        ซอสามสายหลีบ 1 คัน บรรเลงร่วมกับเครื่องดำเนินทำนองอื่น ๆ
        ซอด้วง 2 คัน หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
        ซออู้ 2 คัน หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
        จะเข้ 2 ตัว หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
        ขลุ่ยเพียงออ 1 เลา หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
        ขลุ่ยหลีบ 1 เลา ดำเนินทำนองเก็บบ้าง โหยหวนบ้าง สอดแทรกทำนองเล่นล้อไปทางเสียงสูง
        ระนาด เอก 1 ราง หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
        ระนาดทุ้ม 1 ราง ดำเนินทำนองเป็นเชิงหยอกล้อยั่วเย้าให้เกิดอารมณ์ครึกครื้น
        ฆ้องวง 1 วง หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
        ฆ้องวงเล็ก 1 วง ดำเนินทำนองเก็บถี่ ๆ บ้าง สะบัดบ้าง สอดแทรกทำนองไปทางเสียงสูง
        โทน 1 ลูก รำมะนา 1 ลูก หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
        ฉิ่ง 1 คู่ หน้าที่เหมือนในวงมโหรีเครื่องเดี่ยว
        ฉาบเล็ก 1 คู่

       
       3.วงปี่พาทย์ ประกอบ ด้วยเครื่องตี เครื่องเป่า เครื่องกำกับจังหวะ แบ่งเป็นปี่พาทย์ไม้แข็ง ปี่พาทย์ไม้นวม แบ่งตามลักษณะไม้ที่ใช้ตี
- ปี่ พาทย์ไม้แข็ง ไม้ตีก็จะแข็งมาก ตีดังแน่นและไกล
- ปี่ พาทย์ไม้นวม ไม้ ตีจะหุ้มผ้า ให้อ่อนนุ่ม ตีดังเสียงนุ่มๆ ทุ้มๆ ดังไม่ไกลนัก มักเป็นของผู้ชายเล่น
ประเภท ของวงปี่พาทย์ยังแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้อีก ตามแต่จุดประสงค์ ของการใช้งานดังนี้
1.วงปี่พาทย์ชาตรี
      เป็นวงปี่พาทย์โบราณที่มีเครื่องดนตรีน้อยที่ สุด เป็นวงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงหนังตะลุง และมโนราห์ เครื่องดนตรีที่ใช้ในวงดนตรีประเภทนี้ได้แก่ ปี่นอก ฆ้องคู่ โทน 1คู่กลองชาตรี 1 คู่กรับ ฉิ่ง

2. วงปี่พาทย์ไม้แข็ง
      วงปี่พาทย์สามัญ สำหรับประกอบการแสดง และ ประโคมในงานทั่วไป มี 3 ขนาด ดังนี้
         2.1.วงปี่พาทย์เครื่องห้า ใช้เครื่องดนตรีและผู้บรรเลงคือ ระนาดเอก 1 คน ฆ้องวงใหญ่ 1 คน ปี่ใน 1 คน ฉิ่ง 1 คน ตะโพนหรือกลองทัด 1 คน

         2.2.วงปี่พาทย์เครื่องคู่ ระนาดเอก 1 คน ระนาดทุ้ม 1คน ฆ้องวงใหญ่ 1 คน ฆ้องวงเล็ก 1 คน ปี่ใน 1 คน ฆ้องโหม่ง ฉิ่ง 1 คน ฉาบ 1 คน ตะโพนหรือกลองทัด 1 คน

        2.3 วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ ใช้เครื่องดนตรีบรรเลงคือ ระนาดเอก 1 คน ระนาดทุ้ม 1คน ระนาดเอกเหล็ก 1 คน ระนาดทุ้มเหล็ก 1 คน ฆ้องวงใหญ่ 1 คน ฆ้องวงเล็ก 1 คน ปี่ใน 1 คน ปี่นอก 1 คน ฆ้องโหม่ง ฉิ่ง 1 คน ฉาบ 1 คน ตะโพนหรือกลองทัด 1 คน

3. วงปี่พาทย์ไม้นวม
        วงปี่พาทย์ชนิดนี้ใช้เครื่องดนตรี ผู้บรรเลง ,และขนาดของวง เหมือนกับวงปี่พาทย์ไม้แข็งเกือบทุกอย่าง ส่วนที่แตกต่างก็คือ
- ใช้ ขลุ่ยเพียงออ แทนปี่ใน
- เพิ่ม ซออู้
- ใช้ไม้นวมตีระนาดเอกไม้ระนาดเอกเหล็ก (ทำให้เสียงนุ่มนวลขึ้น)


4. วงปี่พาทย์มอญ
        เครื่องดนตรีของวงปี่ พาทย์มอญนี้ ปิดทองหรือทาด้วยสีทองเกือบทุกชิ้น วงปี่พาทย์มอญเช่นเดียวกับวงปี่พาทย์ไทย กล่าวคือ มีเครื่องห้า ,เครื่องคู่, เครื่องใหญ่ เช่นกัน มีข้อแตกต่างกันดังนี้
-ใช้ปี่มอญ แทนปี่ใน (ปี่มอญ เสียงต้อต่ำฟังเสียงแล้วเยือกเย็นและวังเวง)
- ใช้ฆ้องมอญ แทน ฆ้องวง
- ใช้ ตะโพนมอญ แทน ตะโพนไทย
- เพิ่มเปิงมางคอกเข้า (เปิงมางคอก ใช้เปิงมาง 7 ลูก เทียบให้มีเสียงสูง - ต่ำ ตามลำดับผูกร้อยเข้ากับคอกเปิงมาง)
วงปี่พาทย์มอญนิยมบรรเลงในงานศพ เพราะมีทำนองฟังแล้วโหยหวลชวนให้เกิดความเศร้าใจ 


5. วงปี่พาทย์นางหงส์
      ใช้เครื่องดนตรีเหมือนกับวงปี่พาทย์ไม้แข็ง ทุกอย่างนอกจาก
-ใช้ ปี่ชวา แทน ปี่นอก
- ใช้ กลองมะลายู 1 คู่ แทน กลองตะโพนและกลองทัด
วงปี่พาทย์นางหงส์นี้ใช้บรรเลงเฉพาะในงาน ศพเท่านั้น

วันจันทร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2554

เครื่องตี


กลองแขก

       

        กลองแขกเป็นเครื่องดนตรีประเภทตีที่มีรูปร่างยาวเป็นรูปทรงกระบอก ขึ้นหนังสองข้างด้วยหนังลูกวัวหรือหนังแพะหน้าใหญ่ กว้างประมาณ 20 ซม เรียกว่า หน้ารุ่ย ส่วนหน้าเล็กกว้างประมาณ 17 ซม เรียกว่า หน้าด่าน ตัวกลองแขกทำด้วยไม้แก่น เช่นไม้ชิงชันหรือไม้มะริด การขึ้นหนังใช้เส้นหวายผ่าซีกเป็นสายโยงเร่งเสียง โยงเส้นห่าง ๆ ในปัจจุบันอาจใช้เส้นหนังแทนเนื่องจากหาหวายได้ยาก กลองแขกสำหรับหนึ่งมี 2 ลูก ลูกเสียงสูงเรียก ตัวผู้ ลูกเสียงต่ำเรียก ตัวเมีย ตีด้วยฝ่ามือทั้งสองข้างให้สอดสลับกันทั้งสองลูก

ระนาดเอก


         ระนาดเอกเป็นเครื่องตีชนิดหนึ่ง ที่วิวัฒนาการมาจากกรับ แต่เดิมคงใช้กรับสองอันตีเป็นจังหวะ ต่อมาก็เกิดความคิดว่า ถ้าเอากรับหลาย ๆ อันวางเรียงราดลงไป แล้วแก้ไขประดิษฐ์ให้มีขนาดลดหลั่นกัน แล้วทำรางรองอุ้มเสียง และใช้เชือกร้อยไม้กรับขนาดต่าง ๆ กันนั้นให้ติดกัน และขึงไว้บนรางใช้ไม้ตีให้เกิดเสียง นำตะกั่วผสมกับขี้ผึ้งมาถ่วงเสียงโดยนำมาติดหัวท้ายของไม้กรับนั้น ให้เกิดเสียงไพเราะยิ่งขึ้น เรียกไม้กรับที่ประดิษฐ์เป็นขนาดต่างๆกันนั้นว่า ลูกระนาด เรียกลูกระนาดที่ผูกติดกันเป็นแผ่นเดียวกันว่า ผืน
      
        ลูกระนาดนี้ทำด้วย ไม้ชิงชัน หรือไม้แก่น เช่น ไม้ไผ่บง ไม้มะหาด ไม้พะยูงก็ได้ โดยนำมาเหลาให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ แล้วทำรางเพื่ออุ้มเสียงเป็นรูปคล้ายลำเรือ ให้หัวและท้ายโค้งขึ้น เรียกว่า รางระนาด แผ่นไม้ที่ปิดหัวท้ายรางระนาดเราเรียกว่า โขน ระนาดเอกในปัจจุบันมีจำนวน 21 ลูก ลูกต้นมีขนาด 39 ซม กว้างราว 5 ซม และหนา 1.5 ซม มีขนาดลดหลั่นลงไปจนถึงลูกที่ 21 หรือลูกยอดที่มีขนาด 29 ซม เมื่อนำผืนระนาด มาแขวนบนรางแล้ว หากวัดจากโขนหัวรางข้างหนึ่งไปยังโขนหัวรางอีกข้างหนึ่ง จะมีความยาวประมาณ 120 ซม มีเท้ารองรางเป็นเท้าเดี่ยว รูปคล้ายกับพานแว่นฟ้า

ระนาดเอกใช้ในวงปี่พาทย์และวงมโหรี โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำ

ฆ้องวงใหญ่


   
        ฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่วิวัฒนาการมาจากฆ้องรางของ อินโดนีเซีย สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ส่วนประกอบของฆ้องวงใหญ่ประกอบด้วยลูกฆ้องและวงฆ้อง ลูกฆ้องมี 16 ลูกทำจากทองเหลือง เรียงจากลูกเล็กด้านขวา วงฆ้องสูงประมาณ 24 เซนติเมตร ใช้หวายโป่งทำเป็นราง ให้หวายเส้นนอกกับเส้นในห่างกัน 14-17 เซนติเมตร ใช้หวาย 4 อัน ด้านล่าง 2 อันขดเป็นวงขนานกัน เว้นที่ไว้ให้นักดนตรีเข้าไปบรรเลง
       
          ฆ้องวงใหญ่เป็นเครื่องดนตรีที่สำคัญที่สุด เพราะคนที่จะเล่นดนตรีในวงปี่พาทย์ต้องมาเรียนฆ้องวงใหญ่ก่อน ฆ้องวงใหญ่ทำหน้าที่เดินทำนองหลัก ซึ่งถือเป็นแม่บทของเพลง
ฆ้องวงใหญ่ใช้เล่นในวงปี่พาทย์ วงปี่พาทย์นางหงส์ และวงมโหรี


เครื่องเป่า

ขลุ่ย

                               
        ขลุ่ย อู้ เป็นขลุ่ยขนาดใหญ่ ระดับเสียงต่ำสุด ต่ำกว่าระดับเสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออ ลงไปอีก ๒ เสียใช้บรรเลงในวงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์
        





  

         
      ขลุ่ยกรวด มีขนาดเล็กกว่า ขลุ่ยเพียงออ ระดับเสียงต่ำสุดสูงกว่า ระดับเสียงของขลุ่ยเพียงอออยู่ ๑ เสียง 


        ขลุ่ยเพียงออ เป็นขลุ่ยขนาดกลาง ระดับเสียงต่ำสุดคือ เสียงโด ของไทย ใช้เป็นหลักเทียบเสียง ในวงเครื่องสาย เครื่องตี ถ้าเล่นกับวงมโหรี ขลุ่ยเพียงออต้องมีระดับเสียง ได้ระดับเดียวกับลูกฆ้องวงใหญ่ ลูกที่ ๑๐ ที่เรียกว่า ลูกเพียงออ


       ขลุ่ยหลีบ เป็นขลุ่ยขนาดเล็ก มีเสียงสูงแหลมเล็ก ระดับเสียงต่ำสุดสูงกว่า เสียงต่ำสุดของขลุ่ยเพียงออขึ้นมา ๓ เสียง ใช้เป่าคู่กับขลุ่ยเพียงออ หรือขลุ่ยกรวด มีอยู่สองชนิด คือ ขลุ่ยหลีบเพียงออ และขลุ่ยหลีบกรวด